ระบบพนักงานราชการเป็นรูปแบบการจ้างงานด้วยสัญญาจ้างในหน่วยงานภาครัฐ ที่มุ่งเน้นให้ภาครัฐมีกำลังคนที่หลากหลาย มีหลักเกณฑ์และวิธีการจ้างงานที่ยืดหยุ่น คล่องตัว สอดคล้องกับสภาพความจำเป็น และเงื่อนไขของการทำงานในภาคราชการ แนวคิดในการพัฒนาระบบราชการซึ่งเป็นการจ้างงานตามสัญญาจ้างปรากฏตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 เห็นชอบแผนปรับระบบบริหารภาครัฐซึ่งเป็นแผนปรับเปลี่ยนระบบราชการไปสู่การจัดการภาครัฐแนวใหม่ที่มีองค์กรขนาดเล็กและมีประสิทธิภาพ โดยมีการพัฒนารูปแบบ เงื่อนไข การทำงาน และการจ้างงาน
กรอบอัตรากำลัง รอบที่ 4 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 – 2563) จำนวน 39 อัตรา และกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการดังกล่าว จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2563สำนักงาน ก.พ. จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยกระทรวง กรม มหาวิทยาลัยเข้ารับฟังการชี้แจงแนวทางการจัดทำกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ รอบที่ 5 (ปีงบประมาณ 2564 - 2567) ในวันที่ 19 – 24 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้การบริหารจัดการสะท้อนความจำเป็นตามภารกิจ ยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ และลักษณะงานของส่วนราชการ สนับสนุนให้เกิดบูรณาการบริหารกำลังคนในภาพรวมของส่วนราชการและของภาครัฐ โดยคำนึงถึงการจ้างงานบุคลากรภาครัฐในรูปแบบต่างๆ อย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพ ประหยัดและคุ้มค่า
ในฐานะผู้รับผิดชอบของมหาวิทยาลัย ที่ปฏิบัติงานในด้านนี้ ขออนุญาตแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ดังนี้
หลักการจัดทำกรอบอัตรากำลังของพนักงานราชการ
1. กรอบอัตรากำลังของพนักงานราชการที่จัดทำต้องสะท้อนความจำเป็นตามภารกิจ ยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ และลักษณะงานของมหาวิทยาลัย
2. กรอบอัตรากำลังของพนักงานราชการมีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม
3.กรอบอัตรากำลังของพนักงานราชการสนับสนุนให้เกิดบูรณาการการบริหารกำลังคนในภาพรวมของส่วนราชการและของภาครัฐ
4. กรอบอัตรากำลังของพนักงานราชการคำนึงถึงการจ้างงานบุคลากรภาครัฐในรูปแบบต่างๆ อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ประหยัดและคุ้มค่า
ขั้นตอนการดำเนินการเพื่อกำหนดกรอบอัตรากำลังของมหาวิทยาลัย
1. พิจารณายุทธศาสตร์ นโยบาย และภารกิจส่วนราชการ
2. พิจารณาสัดส่วนภารกิจของงาน
3. พิจารณาหน่วยงานที่รับผิดชอบ
4. พิจารณาความจำเป็นของงาน
5. พิจารณากำหนดอัตรากำลัง
6. พิจารณาประเภทการจ้างงาน และตำแหน่ง